Translate

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สงกรานต์พระประแดง






เมื่อใกล้จะถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านโดยทั่วไปเฉพาะชาวรามัญ – ไทย แต่ละครอบครัวต่างก็จะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนของตนก่อนวันสงกรานต์ 2 – 3 วัน แต่ละบ้านก็ช่วยกันกวนขนมที่เรียกว่า “กาละแม” บางบ้านก็ทำขนมข้าวเหนียวแดง เพื่อจะได้นำไปทำบุญในวันสงกรานต์ และแจกจ่ายญาติมิตรสหาย เพื่อไมตรีจิตซึ่งกันและกัน

    บ้านใดกะการหุงข้าวสงกรานต์ หรือข้าวแช่ ก็จะเชิญสาว ๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันหุงต้มอาหารเพื่อการทำบุญ คือในเวลาเช้าสาวที่รับเชิญจะนำอาหารและข้าวสงกรานต์นั้นไปส่งตามวัดต่าง ๆ เมื่อขากลับจะมีการพรมน้ำรดกันเพื่อความสวัสดีศิริมงคล แต่เป็นการรดน้ำอย่างมีวัฒนธรรมมิใช่สาดน้ำ เมื่อสาวกลับถึงบ้านเจ้าบ้านที่จัดทำข้าวสงกรานต์ก็จะเลี้ยงดูสาว ๆ และญาติมิตรสหายเป็นการรื่นเริงและไมตรีจิตต่อกัน

    ตามหมู่บ้านชาวไทยรามัญ จะเห็นศาลเพียงตาปลูกเตรียมไว้ เจ้าบ้านจะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาลพร้อมด้วยข้าวแช่ เป็นการสักการะพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์นั้น จะทำได้ 3 วัน คือวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายน นอกจากส่งข้าวสงกรานต์แล้ว ตามวัดต่าง ๆ มีผู้ไปทำบุญกันอย่างมากมาย ในเวลากลางคืนมีบ่อนสะบ้าตามหมู่บ้านเป็นที่สนุกสนานยิ่งนักบางบ่อนมีถึง 7 วัน ทั้งนี้ มิใช่เป็นการพนันเอาทรัพย์สินอย่างใด เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งตามพื้นเมืองตามบ่อนสะบ้ามีผู้ชมมากมาย และแต่ละคนต่างก็รักษามารยาทและวัฒนธรรม แต่ละบ่อนจะมีขนม “กวันฮะกอ” หรือ “กาละแม” เตรียมไว้ให้รับประทานด้วย และมีการร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) ในวันท้ายของสงกรานต์พระประแดง (ถัดจากวันที่ 13 เมษายน อีกหนึ่งอาทิตย์)ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์นำขบวนนางสงกรานต์ ขบวนสาวรามัญ – หนุ่มลอยชาย จากหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อแห่นก – แห่ปลา ไปทำพิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกิริยาท่าทีที่สุภาพรดแต่พองาม และคุยกันตามประสาหนุ่มสาวตลอดทางที่เดินกลับบ้าน

    สงกรานต์พระประแดง จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลดังนี้

    1. ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์
    การส่งข้าวสงกรานต์เป็นประเพณีที่คาดว่าจะได้รับอิทธิพลจากตำนานสงกรานต์ เมื่อตอนที่ท่านเศรษฐีนำเครื่องสังเวยไปบวงสรวงเทวดาที่ต้นไทรเพื่อขอบุตร ข้าวสงกรานต์นั้นเป็นการหุงข้าวแล้วแช่ลงในน้ำดอกมะลิบรรจุลงในหม้อดิน ส่วนกับข้าวนั้นก็จะเป็นอาหารเค็ม เช่นไข่เค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ของหวาน ได้แก่ถั่วดำต้มน้ำตาล กล้วยหักมุก แตงโม จัดวางใส่ถาดให้เท่ากับวัดที่จะไป สาวๆ ในหมู่บ้านก็จะรับข้าวสงกรานต์ไปส่งตามวัดต่าง ๆ ขากลับจะมีหนุ่ม ๆ มาคอยดักรดน้ำและเกี้ยวพาราสีตามวิสัยหนุ่มสาวทั่ว ๆ ไป

    2. ประเพณีสรงน้ำพระ - รดน้ำขอพรผู้ใหญ่และเล่นน้ำสงกรานต์
    ในช่วงท้ายของสงกรานต์ชาวมอญในพระประแดง จะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป วัดที่มีพระพุทธรูปมากมายและสวยงามคือ วัดโปรดเกศเชษฐาราม ในตอนเย็นหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปสรงน้ำพระพุทธรูปรอบวัด เมื่อเสร็จสิ้นจากการสรงน้ำพระพุทธรูปแล้วหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปรดน้ำของพรผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกริยาท่าทีที่สุภาพ รดแต่พองามและคุยกันตามประสาหนุ่มสาวตลอดทางที่เดินกลับบ้าน แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้ก็ค่อย ๆ หายไปหลังจากที่พระประแดงมีการสัญจรคับคั่งไปด้วยรถยนต์

    3. ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ
    หงส์นั้นเปรียบเทียบเสมือนสัญญลักณ์ของเมืองหงสาวดีอันเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 8 ปี ได้เสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ วันหนึ่งทรงมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงเห็นเนินดินกลางทะเลมีหงส์คู่หนึ่งเล่นน้ำกันอยู่ พระองค์จึงทำนายว่าในกาลสืบไปข้างหน้า เนินดินที่หงส์ทองเล่นน้ำจะกลายเป็นมหานครชื่อว่า หงสาวดี คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะรุ่งเรืองขึ้นที่นี่ หลังจากเสด็จดับขันธ์ล่วงไปแล้วได้ 100 ปี ทะเลใหญ่นั้นก็เกิดตื้นเขินจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ เมืองหงสาวดีจึงได้กำเนิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองเล่นน้ำอยู่นั้น ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญญลักณ์ของประเทศตั้งแต่นั้นมา

    ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาว มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษสามารถต่อสู้กับศัตรูที่จะมารุกรานได้ เปรียบเหมือนชาวมอญที่ไม่เคยหวาดหวั่นศัตรู ทุกอวัยะในตัวตะขาบนั้น ชาวมอญจะตีความออกมาเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น หนวด 2 เส้น หมายถึง สติ สัมปชัญญะ หาง 2 หาง หมายถึง ขันติ โสรัจจะ    เขี้ยว 2 เขี้ยว หมายถึง หิริ โอตัปปะ ตา 2 ข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญูกตเวที    ลำตัว 22 ปล้อง หมายถึง สติปัฎฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 อิทธิบาท 4 นั่นหมายความว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลประชาราษฎร์ของตนได้เหมือนตะขาบแล้วไซร้ รามัญประเทศก็จะเจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นไปอีกนานแสนนาน

    4. ประเพณีแห่นก – แห่ปลา
    ประเพณีแห่นก – แห่ปลา เกิดจากความเชื่อของชาวมอญที่ว่าการปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการสะเดาะเคราะห์ให้แก่ตนเองทำให้มีอายุยืนยาว และเป็นประเพณีหนึ่งในเทศกาลสงกรานต์ที่จัดพร้อมกับขบวนแห่นางสงกรานต์ในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์พระประแดง (การแห่นกนั้นได้นำมาผนวกเข้าในภายหลังด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน) ซึ่งชาวมอญยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีแห่นก – แห่ปลาในที่สุดเทศบาลเมืองพระประแดงพิจารณาเห็นว่าประเพณีแห่นก – แห่ปลา เป็นประเพณีที่ดีงามสมควรอนุรักษ์ไว้ จึงได้รับเป็นผู้สืบสานประเพณีนี้ โดยจัดให้มีขบวนแห่นก – แห่ปลา ในขบวนแห่นางสงกรานต์ทุกปีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

    5. ประเพณีแห่นางสงกรานต์
    ในวันท้ายวันสงกรานต์จะมีขบวนแห่นก - แห่ปลา แต่ละหมู่บ้านจะเชิญสาวเข้าร่วมขบวนแห่ โดยมอบให้ผู้ที่เป็นคนกว้างขวางรู้จักคนมาก นำหมากพลูจีบใส่พานไปเชิญสาวตามหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วแต่จะกำหนดว่าหมู่บ้านใดจะเชิญสาวกี่คน ก็เตรียมหมากพลูไปเท่ากับจำนวนสาวที่ต้องการ สาวใดเมื่อได้รับหมากพลูไปแล้วเขาก็จะมาร่วมเข้าขบวน ส่วนการแต่งกายนั้นแล้วแต่จะสะดวก เมื่อสาวมาพร้อมกันแล้วผู้ที่มีหน้าที่คัดเลือกสาวงาม ก็พิจารณาดูว่าผู้ใดสวยที่สุดก็ให้เป็นนางสงกรานต์ในปีนั้น ต่อมาภายหลังได้มอบให้ผู้มีหน้าที่คัดเลือกสาวได้มองหาสาวที่สวยๆ ไว้แต่เนิ่นๆ ก่อน เมื่อใกล้วันสงกรานต์จะเชิญสาวที่หมายตาไว้นั้นให้เป็นนางสงกรานต์ส่วนคนอื่นๆ ก็ให้เป็นนางประจำปี หรือ นางฟ้าตามลำดับไป ซึ่งวิธีการนี้จะได้สาวงามซึ่งเป็นชาวพระประแดงที่แท้จริง ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้จัดให้มีการประกวดนางสงกรานต์ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ทำการประกวดติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชายควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์

    6. การละเล่นพื้นเมืองการละเล่นสะบ้า (มอญ) (ว่อน – ฮะ – นิ)
    ในช่วงเวลาวันสงกรานต์ทุกปี ตามหมู่บ้านจะมีการแสดงสะบ้า หรือการละเล่นสะบ้าของหนุ่มสาว เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยรามัญ การละเล่นสะบ้ามีประมาณ 30 กว่าบท เป็นลีลาการแสดงพื้นเมือง การละเล่นสะบ้ามิใช่การเล่นพนันขันต่อแต่อย่างใด มีการเล่นในเวลากลางคืน บ่อนหนึ่ง ๆ จะมีสาวงามประจำบ่อนอย่างน้อย 7 คู่ อย่างมาก 10 คู่ บ่อนใช้ใต้ถุนเรือนหรือที่ว่างพอที่จะตกแต่งเป็นบ่อนสะบ้าได้ บ่อนจะต้องทุบดินให้เรียบแต่งบ่อนด้วยกระดาษสีต่าง ๆ มีแสงสว่างมากพอปัจจุบันได้ใช้ไฟฟ้า (สมัยก่อนเราใช้ไฟตะเกียง หรือไฟใต้) ลูกสะบ้านั้นกลึงเป็นลูกกลมแบนเรียบ ทำด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาวัว เขาควาย เงิน ทองเหลือง หรือไม้เนื้อแข็งก็ได้ กาละเล่นสะบ้ามีหนุ่มฝ่ายหนึ่ง และสาวฝ่ายหนึ่งแสดงสลับกันไปตามลีลาของวิธีเล่นสะบ้าพื้นเมือง ซึ่งมีประมาณ 15 ถึง 30 ท่า เช่น ทิ่นเติง จั้งฮะยู อีมายยับ ตองเก้ม อะลอง เดิง เป็นต้น (โปรดชมการแสดง จะทราบวิธีดีขึ้น หรืออาจจะลงบ่อนแสดงด้วยตนเองก็ได้) การละเล่นสะบ้ายังคงเหลือยู่ที่พระประแดงเท่านั้น

    7. การละเล่นพื้นเมืองทะแยมอญ
    มอญเป็นชนชาติหนึ่งที่มีวัฒนธรรมทางดนตรีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อประมาณ 20 ปีล่วงมาแล้ว ในเทศกาลสงกรานต์จะได้ยินเสียงเพลงทะแยมอญเสมอ โดยเฉพาะตามบ่อนสะบ้า แต่น่าเสียดายว่าไม่มีการบันทึกหรือถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นหลังสืบทอด ปัจจุบันวัฒนธรรมดังกล่าวจึงค่อย ๆ หายไปจากเมืองพระประแดง

    การเล่นทะแยมอญ คล้ายเพลงฉ่อยหรือลำตัดเป็นร้อยกรองชนิดหนึ่งคล้ายกับกลอนร่ายของไทยประเภทเพลง เนื้อร้องใช้ภาษามอญ เป็นบทไหว้ครู ชมนกชมไม้ เกี้ยวพาราสี ให้ศีลให้พรสำหรับผู้ใหญ่ ฝ่ายชายใช้เพลงเจื้อกมั่ว ฝ่ายหญิงใช้เพลงโป้ดแซ่ เครื่องดนตรีประกอบการแสดงมี 5 ชนิด คือ ซอสามสาย (มอญ) จะเข้ ขลุ่ย เปิงบาง ฉิ่ง การแต่งกายชุดรามัญ (ชายชุดลอยชาย หญิงชุดมอญ)

    ทะแยมอญ ใช้ร้องในโอกาสอันเป็นมงคล เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายรามัญที่อาศัยอยู่ในเมืองพระประแดง(ชาวปากลัด) การเล่นทะแยมอญกล่อมบ่อนสะบ้าในเทศกาลสงกรานต์ เป็นการร้องโต้ตอบกันในเชิงเกี้ยวพาราสีระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง โดยมีการรำประกอบ การเคลื่อนไหวของผู้รำเน้นหนักที่มือ และในวันท้ายวันสงกรานต์ก็จะมีการแสดงทะแยมอญร่วมในขบวนแห่นก – แห่ปลา เป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันได้เลือนหายไปเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง

    8. ประเพณีการกวนกาละแม (กวันฮะกอ) ของดีเมืองพระประแดง
    เมื่อถึงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญปากลัด ชาวมอญจะทำความสะอาดบ้านเรือนแต่ เนิ่น ๆ และทำขนมที่มอญเรียกว่า “กวันฮะกอ” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ขนมกวน” ประกอบด้วย ข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว กะทิ กวนให้เข้ากันจนเหนียว คนไทยเรียกว่า “กาละแม” คนมอญ ก็เรียก “กาละแม” ด้วย เมื่อถึงวันสงกรานต์ คนมอญจะนำอาหารไปทำบุญที่วัด ตอนเย็นจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือ บรรดาสาว ๆ ตามหมู่บ้านจะนำขนมกาละแมไปส่งตามญาติ หรือผู้ที่เคารพนับถือในต่างตำบล และชอบที่จะไปส่งไกลบ้านตน (ซึ่งความจริงทุกบ้านก็กวนกาละแมถือว่าเป็นโอกาสได้เยี่ยมเยียน พบปะกัน) ตอนเย็นจะพากันไปสรงน้ำพระที่วัดโปรดเกศเชษฐาราม หนุ่มๆ ที่คอยสาวๆ อยู่จะพากันรดน้ำสาวๆ เป็นที่สนุกสนานเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะพบกันได้ในงานสำคัญนี้ พอตกกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามประเพณีตามหมู่บ้านของตนและการเล่นสะบ้านี้จะมีขนม “กวันฮะกอ” เตรียมไว้ให้รับประทานด้วยปัจจุบันนี้ประเพณียังคงมีอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ

    วันสงกรานต์พระประแดง เป็นวันสงกรานต์ของชาวรามัญที่สนุกสนานมากและเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวไทยทั่วไปทุกที่ จะมีผู้มาร่วมเล่นน้ำในวันสงกรานต์พระประแดงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจัดภายหลังจากสงกรานต์อื่นๆ (ถัดจากวันสงกรานต์ไทยไปหนึ่งอาทิตย์) จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ การมีขบวนแห่นางสงกรานต์ พร้อมด้วยขบวนแห่นก – แห่ปลา ที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตาที่หลายหน่วยงาน / หมู่บ้านร่วมกันจัดขึ้น สงกรานต์พระประแดงนั้น เป็นที่สนุกสนานยิ่งนักเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วประเทศ ถึงความยิ่งใหญ่และความสวยงามตระการตาของขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ ขบวนสาวรามัญ–หนุ่มลอยชาย ที่ยังคงรักษาประเพณีเก่าๆ ไว้อย่างมั่นคงตลอดถึงเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยชุดไทยรามัญ และชุดลอยชาย ซึ่งท่านผู้สนใจควรจะได้ไปชมด้วยตนเอง ซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาประเพณีไว้โดยเคร่งครัดตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
เริ่มต้นการเคลื่อนขบวนเข้าพระประแดง
เริ่มต้นการเคลื่อนขบวนเข้าพระประแดง งานประเพณีสงกรานต์พระประแดงจะจัดขึ้นหลังจากสงกรานต์ใหญ่ที่จัดกันทั่วประเทศเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และจะเลือกจัดให้ตรง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันสุดท้ายของงานจะมีการแห่นางสงกรานต์ของขบวนจากชุมชนต่างๆ ในพระประแดง เวลาประมาณ 11.00 น. รถขบวนแห่จะเคลื่อนไปรวมกันอยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอ
advertize
บรรยากาศสงกรานต์พระประแดง
บรรยากาศสงกรานต์พระประแดง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั่วไป 13-15 เมษายน ชาวอำเภอพระประแดงจะไม่มีการเล่นสาดน้ำ คนที่อยากจะสาดน้ำก็ต้องออกไปเล่นนอกพื้นที่พระประแดง ส่วนในวันสงกรานต์พระประแดงจะมีการเล่นสาดน้ำในพื้นที่ทั่วอำเภอ โดยเฉพาะในตัวอำเภอทำให้บรรยากาศเย็นชุ่มฉ่ำไปทั่วตามถนนหลายสาย โดยจะมีการจัดให้มีน้ำฉีดลงมาจากซุ้มประตูหลายๆ ซุ้ม มีรถบริการน้ำฟรีทั้งน้ำดื่มและน้ำสำหรับเล่นสงกรานต์
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง เวลาเริ่มแห่ประมาณ 16.00 น. - 17.00 น. จากที่ว่าการอำเภอพระประแดงไปตามเส้นทางที่กำหนด ขึ้นอยู่กับว่าจะแห่ขบวนเข้าวัดไหนที่จะเป็นจุดประกอบพิธีปล่อยนกปล่อยปลา แต่ละวัดจะยื่นเรื่องขอเป็นเจ้าภาพจัดงานในแต่ละปีอาจจะไม่ซ้ำวัดเดิมสำหรับปี 2555 ได้จัดงานประเพณีปล่อยนกปล่อยปลาที่วัดโปรดเกศเชษฐารามซึ่งว่ากันว่าเป็นสถานที่จัดงานปล่อยปลาที่สวยที่สุด ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดงมีหลายคันรถจากหลายชุมชน บนรถแต่ละคันก็จะมีนางสงกรานต์นั่งประจำตำแหน่งต่างๆ ส่วนนางสงกรานต์ที่ชนะการประกวดจะอยู่บนรถขบวนแห่คันสุดท้าย
นางสงกรานต์พระประแดง
นางสงกรานต์พระประแดง 
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง 
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง 
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง รถแต่ละคันจะถูกตกแต่งมาอย่างสวยงามเรียงต่อกันหลายคัน เฉพาะเวลาที่ขบวนเคลื่อนผ่านพื้นที่ใด จะกำหนดให้บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ห้ามเล่นน้ำชั่วคราว เพื่อไม่ให้เสียขบวนและทำให้นางสงกรานต์และนักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปเปียกน้ำ
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง 
ขบวนธิดาช้าง
ขบวนธิดาช้าง เป็นการเพิ่มบรรยากาศสนุกสนานให้กับขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง 
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง 
สงกรานต์พระประแดง
สงกรานต์พระประแดง ภาพนี้เป็นบรรยากาศบริเวณถนนทรงธรรมใกล้จะถึงวัดโปรดเกศเชษฐารามเข้าทุกขณะ บริเวณนี้มีสะพานข้ามคลอง เป็นจุดที่ช่างภาพส่วนใหญ่มาดักรอขบวนเพราะจะได้ยืนอยู่บนสะพานแล้วถ่ายภาพบรรยากาศได้กว้างเห็นขบวนแห่แต่ละขบวนอย่างสวยงาม
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง 
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง
ขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง ส่วนคันนี้เป็นพระสงฆ์นั่งอยู่บนรถมีพระพุทธรูปมาด้วย พระสงฆ์จะพรมน้ำมนต์ไป 2 ข้างทาง ตลอดระยะทางที่ขบวนแห่เคลื่อนไปจนถึงจุดหมาย
ขบวนธิดาช้าง
ขบวนธิดาช้าง 
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง
 
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง
 
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง
 
สาวงามสงกรานต์พระประแดง
สาวงามสงกรานต์พระประแดง 
สาวงามสงกรานต์พระประแดง
สาวงามสงกรานต์พระประแดง 
สาวงามสงกรานต์พระประแดง
สาวงามสงกรานต์พระประแดง 
สาวงามสงกรานต์พระประแดง
สาวงามสงกรานต์พระประแดง 
ธิดาช้าง
ธิดาช้าง 
หนุ่มลอยชายสงกรานต์พระประแดง
หนุ่มลอยชายสงกรานต์พระประแดง นอกจากการประกวดสาวงามนางสงกรานต์หรือเทพีสงกรานต์ แล้วฝ่ายชายก็มีการประกวดเหมือนกันเรียกว่าหนุ่มลอยชาย ปีนี้ก็หล่อไม่เบาครับ
ประเพณีทำบุญปล่อยปลา
ประเพณีทำบุญปล่อยปลา เมื่อขบวนแห่สงกรานต์ทุกขบวนเดินทางมาถึงวัดโปรดเกศเชษฐารามแล้วก็จะเป็นเวลาการประกอบพิธีประเพณีทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา โดยจัดขึ้นที่พระมณฑปกลางน้ำสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปล่อยปลาพระประแดง
ปล่อยปลาพระประแดง ช่วงสุดท้ายเป็นการปล่อยปลาโดยนางสงกรานต์ทั้งหมด และคณะ การปล่อยนกโดยหนุ่มลอยชาย ที่ด้านหน้าของพระมณฑป ภาพนี้จึงถือว่าเป็นสถานที่ปล่อยปลาที่สวยงามที่สุด
ปล่อยนกปล่อยปลาสงกรานต์พระประแดง
ปล่อยนกปล่อยปลาสงกรานต์พระประแดง นอกเหนือจากนี้ยังมีประเพณีอื่นๆ ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างการกวนกาละแม การเล่นสะบ้า ซึ่งในชุมชนต่างๆ ก็จะมีบ่อนสะบ้าส่วนมากก็จะเป็นบ่อนสะบ้าในวัด มีอยู่ด้วยกันหลายวัด ให้นักท่องเที่ยวได้ชมการละเล่นที่หาดูได้ยากขึ้นทุกวันๆ ขอจบการนำเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ไว้ด้วยภาพนี้เลยละกันครับ มีโอกาสควรได้ไปชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวพระประแดงกันครับ

    แผนที่ | พยากรณ์อากาศสมุทรปราการ |

ติดต่อสอบถาม:
ศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ โทร. 0 2384 5118, 0 2380 5180
http://www.tourismthailand.org/bangkok


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น